หน้าหลัก >> ห้อง อ.สมพร >> Download MFW-P1 >> Thesis >> ติดต่อ webmaster
น้องมะลิ
พิธีกร... น้องมะลิ

       "...สวัสดีค่ะขอต้อนรับเข้าสู่...ห้องแห่งความรู้และเสริมภูมิปัญญาทางอินเตอร์เน็ต คะ ห้องนี้ยินดีเป็นประตูสู่ศาตร์แห่งความรู้ทุกแขนงวิชา ซึ่งดิฉันขอเป็นตัวแทนเผยแผ่แก่ผู้มาเยือนทุกท่านคะ และหากท่านใดมีความประสงค์อยากนำเสนอสาระความรู้อื่นๆ ที่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์หรือเสริมเพิ่มเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่นก็สามารถส่งเนื้อหาสาระมาได้ที่ mali@microfeap.com <หากแนบไฟล์ขอเป็นนามสกุล *.txt หรือ *.doc เท่านั้นนะค่ะ>...


ท่านสามารถเลือกอ่านได้ค่ะ

1. เทฟลอน คืออะไร
2. มนุษย์...พูดได้อย่างไร
3. แสงสว่างในหิ่งห้อย
4. เคล็ดลับการทายอายุปลา
5. ทำไมท้องฟ้าเป็นสีฟ้า
6. น้ำนมช่วยให้นอนหลับได้
7. เหตุใดจึงสร้างช่องน้ำแข็งไว้ส่วนบนของตู้เย็น
8. ทำไมจึงปวดฟัน (เนื่องจากฟันผุ)
9. เสียงเพลงสามารถทำให้แก้วแตกได้
10. อินซูลินแก้โรคเบาหวานได้อย่างไร

11. ประโยชน์ของฟ้าแลบ
12. ลองทายซิคะ มดมีอายุยืนยาวเท่าไร...
13. รถสีเข้มทำไมจึงร้อนกว่ารถสีอ่อน...
14. กำหนดเพศ "จระเข้แอลลิเกเตอร์" ด้วยอุณหภูมิ
15. ทำไม "นักสู้วัว" จึงใช้ผ้าสีแดงล่อวัว
16. การหายใจกับการลอยตัวในน้ำ
17. รุ้งกินน้ำมีรูปทรงอย่างไร
18. อาการสะอึก
19. การหาว


19. ทำไมต้อง...หาว...?
      "หาว" เป็นกิริยาอาการที่ ต้องอ้าปากให้กว้างเพื่อสูดลมเข้าไปลึกๆ ทางปากแล้วจึงระบายลมออก ส่วนใหญ่จะหาวเวลาง่วงนอน แต่อาการเช่นนี้เวลาเหนื่อยก็หาวได้เหมือนกัน
       การหาว เป็นการหายใจลึกๆ วิธีหนึ่งเพื่อที่จะเอาแก๊สออกซิเจนเข้าไปในร่างกายให้มากๆ ถ้าร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยกว่าที่ต้องการขณะนั้นจะเกิดอาการหาวขึ้นเองเพื่อปรับตัว
       เคยสังเกตบ้างไหมว่า กิริยาอาการบางอย่างระหว่างคนเราสามารถเกิดขึ้นได้ใกล้เคียงกันเหมือนโรคติดต่อ เช่น คนหนึ่งหัวเราะขึ้นมา คนอื่นก็อยากหัวเราะบ้าง หรือบางคนเห็นเพื่อนที่อยู่ใกล้กันมีความตกใจกลัว ก็ชักนึกกลัวกับเขาด้วย อาการหาวก็ทำนองเดียวกัน คนหนึ่งอ้าปากหาว ทำให้คนอื่นนึกอยากหาวตาม แต่โดยทั่วไป คนเราจะหาวตามคนอื่นได้ง่ายเมื่อตัวเองรู้สึกง่วงนอนหรือรู้สึกเหนื่อย

18. สะอึก...อึ๊กๆ...?
      อาการสะอึก เกิดจากการทำงานไม่ปรกติของกะบังลมซึ่งเป็นแผ่นกล้ามเนื้อและเนื้อพังผืดกั้นระหว่างช่องท้องกับช่อง-อก อาศัยการทำงานโดยยืดและหดเพื่อช่วยในการหายใจ ปรกติอาการยืดหดนี้มีจังหวะที่สม่ำเสมอ
      
สาเหตุของการสะอึก อาจเกิดได้จาก มีอะไรไปรบกวนเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกะบังลม ลมในกระเพาะอาหารขยายตัวไปดันกะบังลม กลืนอาหารหรือน้ำจำนวนมากจนไหลลงกระเพาะไม่ทัน ทำให้หลอดอาหารตอนปลายขยายตัวไปกระตุ้นปลายประสาทที่มาเลี้ยงกะบังลม หรืออวัยวะใกล้กะบังลมเป็นโรคบางอย่าง เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ มูลเหตุเหล่านี้ทำให้กะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงทันทีทันใด การบีบรัดตัวของกะบังลมทำให้แผ่นเหนือกล่องเสียงที่คอหอยซึ่งปรกติคอยกั้นไม่ให้อาหารเข้าไปในหลอดลมปิดลง เมื่อกะบังลมหดอย่างแรงก็จะดึงอากาศเข้าสู่ปอดผ่านคอหอยอากาศจึงกระทบกับแผ่นปิด แล้วทำให้สายเสียง (เส้นเอ็น 2 เส้น) สั่นสะเทือน จึงเกิดเสียงอึ๊กๆ อย่างที่ได้ยินเวลาสะอึก ซึ่งอาการสะอึกอาจเกิดขึ้นได้นาทีละหลายครั้ง และสะอึกต่อเนื่องกันได้หลายชั่งโมง จนคนสะอึกเหนื่อย
      วิธีแก้ไขให้หายสะอึก (ถ้าไม่ใช่สะอึกเพราะโรค) มีหลายวิธี เช่น หายใจลึกๆ กลั้นหายใจ หายใจในถุงกระดาษสัก 3-5 นาที ดื่มน้ำแก้วโตพร้อมกับหายใจ หาสิ่งใดแยงจมูกให้จาม ถ้าเป็นเด็กอ่อนควรอุ้มพาดบ่าใช้มือลูบหลังเบาๆ ให้เรอ

17. รุ้งกินน้ำมีรูปทรงอย่างไร...?
      รุ้งกินน้ำมีรูปร่างเป็นวงกลมค่ะ เพราะเมื่อเวลาที่แสงแดดกระทบละอองน้ำที่อยู่เหนือตัวเราจะเกิดการหักเหออกมาเป็นแสง 7 สี ขณะเรายืนอยู่ที่พื้นแสงที่หักเหเข้าสู่ตาเราจะมีลักษณะเป็นรูปกรวย โดยดวงตาของเราเป็นจุดยอดของกรวยและตัวรุ้งกินน้ำเป็นเส้นรอบวงของฐานกรวย เมื่อวัดแสงที่อยู่นอกสุดของฐานกรวยคือสีแดง ทิศทางของแสงที่หักเหเข้าสู่ตาจะทำมุม 42 องศา กับแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบกับละอองน้ำ ส่วนแสงสีอื่นๆ จะอยู่ถัดจากสีแดงเข้าไปภายใน มุมก็น้อยลงตามลำดับ และถ้าเราอยากเห็นรุ้งกินน้ำเป็นวงกลมก็ต้องขึ้นไปบนอากาศ เช่น ในเครื่องบิน เพราะบนอากาศละอองน้ำทั้งที่อยู่เหนือและใต้ตัวเราจะช่วยกันหักเหแสงให้เห็นเป็นวงกลมได้

16. การหายใจกับการลอยตัวในน้ำ...?
       คราวนี้เราลองมาหาความรู้ในเชิงการทดลองกันดูบ้างนะคะ การหายใจลึกๆ นั้นจะช่วยให้เราลอยตัวในน้ำได้อย่างไร ถ้าเราลอยตัวเป็นลองพยายามทดลองในสระว่ายน้ำ แต่ถ้าไม่เป็นก็ลองในอ่างอาบน้ำ หัดลอยตัวโดยหงายหน้าขึ้น ส่วนแขนให้แนบลำตัวและจมลงไปเล็กน้อย พยายามให้ด้านหลังของศรีษะจมอยู่ในน้ำแล้วหายใจเข้าลึกๆ เราจะลอยตัวได้สูงกว่าปกติเล็กน้อย เพราะปอดของเราจะขยายตัวและทำให้ร่างกายของเราขยายใหญ่ขึ้น จึงไปแทนที่น้ำมากเช่นกัน

15. ทำไม "นักสู้วัว" จึงใช้ผ้าสีแดงล่อวัว...?
       การล่อวัวกระทิงด้วยผ้าสีแดงแบบสเปนได้มีผู้ทำการทดลองหลายครั้งหลายหนจนสรุปได้ว่า วัวเป็นสัตว์ตาบอดสี ดังนั้นสีแดงจึงไม่ได้ทำให้วัวโกรธแค้นจนถึงกับต้องวิ่งเข้าขวิดเลย วัวจะมีปฎิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อมสีขาวและสีดำ และอาจเห็นสีเทาอ่อนแก่ได้เท่านั้น นอกจากวัวแล้วนักวิทยาศาสตร์ยังทดลองกับสัตว์อื่นอีก ปรากฎว่า จำพวกลิงเท่านั้นที่เข้าใจเรื่องสีต่างๆ
       ถ้าเช่นนั้น ทำไมนักสู้วัวในสเปนจึงใช้ผ้าสีแดงล่อวัว คำตอบคือ จากประสบการณ์ของนักสู้วัวที่ทำมาหลายปีพบว่า ผ้าสีแดงทำให้ผู้ชมวัวรู้สึกตื่นเต้นดี เพราะฉะนั้นเขาจึงใช้สีแดงเท่านั้นเอง

14. กำหนดเพศ "จระเข้แอลลิเกเตอร์" ด้วยอุณหภูมิ...?
       นักชีววิทยาชาวอเมริกันค้นพบว่า จระเข้แอลลิเกเตอร์สามารถกำหนดเพศของลูกน้อยได้ด้วยอุณหภูมิเพียงอย่างเดียว หากไข่ถูกเก็บไว้ในที่ๆ อุณหภูมิต่ำกว่า 86 *F ในระหว่างสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ของการฟักไข่ ไข่เหล่านี้จะถูกฟักเป็นตัวเมียทั้งหมด และไข่ที่ถูกเก็บไว้ที่อุณหภูมิสูงกว่า 94*F จะฟักออกมาเป็นตัวผู้หมด ส่วนไข่ที่เก็บไว้อุณหภูมิระหว่าง 86-94*F จะฟักเป็นทั้งตัวผู้และตัวเมีย
       นักวิจัยเริ่มสังเกตุจากการเฝ้าดู เขาพบว่าจระเข้ที่วางไข่ในหนองบึงเฉอะแฉะเย็นชื้น ไข่จะฟักเป็นตัวเมีย ส่วนไข่ที่วางบนฝังมีแสงอาทิตย์ส่องถึงจะออกมาเป็นตัวผู้ ปริศนาที่ว่าทำไมอุณหภูมิจึงกำหนดเพศได้ นักวิทยาศาตร์อธิบายว่า ขณะที่อุณหภูมิสูงนั้นตัวอ่อนจะใช้ไข่แดงหมดไปอย่างรวดเร็วจนเหลืออาหารน้อยไม่เพียงพอต่อการพัฒนาไข่เป็นเพศเมีย

13. รถสีเข้มทำไมจึงร้อนกว่ารถสีอ่อน...?
        ถ้าเรานำรถสีเข้ม (สมมติว่าสีดำ) กับสีอ่อน (สีขาว) จอดตากแดดไว้นานๆ พอกัน อุณหภูมิของรถ 2 คันจะต่างกัน รถยนต์สีดำปรากฎเป็นสีดำในสายตาเราเพราะแทบจะไม่สะท้อนแสงที่มากระทบเลย แสงจากรถที่มาเข้าตาเราจึงน้อยมาก ส่วนรถสีขาวจะสะท้อนแสงที่ตกกระทบเกือบทั้งหมด ดังนั้นจาเราจึงได้รับแสงจำนวนมากจากรถสีขาว
        จากข้อเท็จจริงที่ว่า แสงแดดเป็นพลังงาน รถสีขาวจะสะท้อนพลังงานแสงเกือบทั้งหมดที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นพลังงานแสงจึงไม่สะสมหรือเพิ่มอุณหภูมิของรถได้ ในทางตรงกันข้าม รถสีดำจะสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์ออกไปน้อยมาก รถจะดูดกลืนพลังงานดังกล่าวสะสมไว้มากจึงทำให้อุณหภูสูงขึ้นกว่ารถสีขาว

12. ลองทายซิคะ มดมีอายุยืนยาวเท่าไร...?
        อาณาจักรของมดประกอบ มดนางพญา มดตัวผู้ มดงาน และมดทหาร ซึ่งมดตัวผู้จะมีอายุสั้นที่สุดมีหน้าที่ผสมพันธุ์กับมดนางพญาเพียงครั้งเดียวแล้วก็ตาย มดงานและมดทหารมีอายุยืนกว่า ส่วนมดนางพญามีอายุยืนที่สุด
        มดงานมีอายุราวๆ 6-7 ปี มดนางพญายังสามารถออกลูกได้แม้อายุ 10 ปี ซึ่งการมีอายุที่ยืนยาวจะเป็นผลดีต่ออาณาจักร เมื่อมดนางพญาตาย อาณาจักรก็จะสูญสลายพวกมดจะพากันเก็บซากมดนางพญาที่ตายแล้วไว้ และอาจักรจะแตกสลายเพราะไม่มีมดงานและมดทหารมาแทนตัวที่ล้มตายลง

11. ประโยชน์ของฟ้าแลบ ?
        สถานีอุตุนิยมวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาประมาณไว้ว่า ในระยะเวลา 1 ปี ฟ้าแลบทำให้ไนโตรเจนตกลงมายังพื้นดิน 2 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อคิดทั้งโลกจะมีไนโตรเจนตกลงมายังโลกถึง 770 ล้านตันต่อปี
        ในระหว่างที่เกิดฟ้าแลบ พลังงานบางส่วนจากฟ้าแลบจะทำให้ไนโตรเจนทำปฏิกิริยาเคมีกับออกซิเจนเกิดเป็นสารประกอบไนโตรเจนมอนอกไซด์ (NO) สารประกอบนี้มีไนโตรเจน 1 อะตอม มันจะดูดออกซิเจนอีก 1 อะตอมเพิ่มเข้าไป และกลายเป็นไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งละลายได้ในน้ำฝนกลายเป็นกรดดินประสิว (HNO3) ตกลงมายังพื้นโลก เมื่อกรดดินประสิวรวมตัวกับสารเคมีอื่นๆ จะได้เป็นเกลือไนเตรดซึ่งเป็นอาหารที่ดีของพืช

10. อินซูลินแก้โรคเบาหวานได้อย่างไร ?
        ปกติอาหารที่รับประทานจะประกอบด้วย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน คาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ซึ่งเป็นอาหารที่ให้พลังงานแก่มนุษย์ คาร์โบไฮเดรตที่เราทานจะถูกย่อยเป็นโมเลกุลเล็กๆ ซึมผ่านผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด ในร่างกายของคนปกติปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดจะต้องอยู่ในระดับที่พอเหมาะ ส่วนน้ำตาลที่เหลือจะถูกเปลี่ยนให้เป็นพลังงานโดย ฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งสร้างจากตับอ่อน
        สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินขึ้นมา ร่างกายจึงไม่มีฮอร์โมนที่จะเปลี่ยนน้ำตาลในกระแสเลือดให้เป็นพลังงาน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงมีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ และจะมีอาการอ่อนเพลียเนื่องจากร่างกายขาดพลังงานไปหล่อเลี้ยง รู้สึกกระหายน้ำตลอดเวลาเพราะในกระแสเลือดมีความเข้มข้นสูง นอกจากนั้นผู้ป่วยจะปัสสาวะบ่อย ร่างกายจะขับน้ำตาลส่วนเกินออกมาทางปัสสาวะทำให้ปัสสาวะมีรสหวาน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า "เบาหวาน"
        ในปีพ.ศ. 2465 เซอร์เฟรเดอริก แบนติง และดร.ชาร์ลส์ เบสต์ เตรียมอินซูลินที่ได้จากตับอ่อนของวัวและแกะ นำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานบางคนมีอายุยาวกว่าอายุเฉลี่ยของคนปกติตามหลักสถิติเสียอีก

9. เสียงเพลงสามารถทำให้แก้วแตกได้ ?
        การร้องเพลงด้วยเสียงสูงเป็นเวลานานๆ ก็สามารถทำให้แก้วแตกได้นั้นเป็นเรื่องจริง นั้นคือ ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า เกิดการ "กำทอน (Resonance)" ของเสียง คือ เกิดการแทรกสอดของคลื่นเสียงแบบเสริมกัน อืม...หากอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ลองนึกถึงเวลาไกวชิงช้าดูนะค่ะ ถ้าเราไก
ว้ชิงช้าได้จังหวะเหมาะๆ พอดี ชิงช้าจะไกวได้สูงขึ้น แต่ถ้าไกวชิงช้าผิดจังหวะจะทำให้ชิงช้าไกวเบาลง เนื่องจากแรงที่ผิดจังหวะไปหักล้างกับการเคลื่อนไหวของชิงช้าเสียหมดนั้นเองค่ะ ในแก้วก็เช่นเดียวกัน แก้วแต่ละใบจะมีการสั่นสะเทือนด้วยความถี่เฉพาะตัว ลองใช้ดินสอเคาะแก้วใบใดจะได้เสียงเหมือนเดิมทุกครั้ง
        ฉะนั้นคลื่นเสียงจากนักร้อง จึงทำให้แก้วสั่นสะเทือนได้เช่นกัน ถ้าความถี่ของเสียงไม่พอดีก็จะหักล้างกับการสั่นสะเทือนของแก้ว แต่ถ้านักร้องสามารถปรับความถี่ของเสียงได้พอเหมาะกับการสั่นสะเทือนของแก้วจะทำให้แก้วสั่นแรงขึ้น

8. ทำไมจึงปวดฟัน (เนื่องจากฟันผุ) ?
        ทราบไหมคะ...ทำไมบ้างทีเวลารับประทานของหวานจึงรู้สึกปวดฟัน ก่อนที่จะอธิบายสาเหตุของการปวดฟัน เราลองมาทำการทดลองนี้ก่อนดีไหมค่ะ โดยนำหัวผักกาดมาหัวหนึ่ง เจาะตรงกลางให้เป็นโพรงจากนั้นเทน้ำตาลข้นๆ ลงไปในโพรงแล้วปิดด้วยจุกคอร์กที่มีหลอดแก้วกลวงเสียบอยู่ นำหัวผักกาดนี้แช่ลงในอ่างน้ำ สักครู่จะเห็นน้ำในอ่างซึมผ่านเนื้อหัวผักกาดเข้าไปในโพรงที่มีน้ำตาลอยู่ ปรากฎการณ์ที่มีน้ำซึมผ่านเนื้อเยื่อไปยังน้ำตาลที่มีความเข้มข้นสูงกว่านี้ เรียกว่า ออสโมซิส (Osmosis) น้ำจะซึมไปเรื่อยๆ จนระดับความกดดันที่ผิวทั้ง 2 ข้างเท่ากัน ระดับน้ำในหลอดแก้วกลวงจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามแรงดันออสโมซิส
        จากการทดลองสามารถอธิบายเรื่องการปวดฟันได้ สมมุติว่าโพรงผักกาดนั้นเป็นฟันผุ เมื่อเรารับประทานของหวานน้ำตาลจะไปขังอยู่ในรูของฟัน ทำให้เกิดการออสโมซิสของน้ำจากประสาทฟันเข้าสู่โพรงฟัน และทำให้เกิดแรงกดดันออสโมซิสขึ้นที่ฟันซี่นั้น ความกดดันนี้เองทำให้เราปวดฟัน วิธีแก้ปวด คือ การอุดฟันหรือถอนฟันซี่นั้น..นั่นเอง

7. เหตุใดจึงสร้างช่องน้ำแข็งไว้ส่วนบนของตู้เย็น ?
        คำตอบง่ายนิดเดียวค่ะ ก็เพราะต้องการให้การหมุนเวียนของอากาศภายในตู้เย็นสม่ำเสมอ เนื่องจากเราทราบว่าอากาศเย็นหนักกว่าอากาศอุ่น ดังนั้น เมื่ออากาศที่วนเวียนผ่านช่องน้ำแข็งเย็นลงก็จะวนมาที่ส่วนล่าง อากาศข้างล่างอุ่นกว่าจะลอยขึ้นข้างบนไปกระทบความเย็นที่ช่องน้ำแข็งก็เย็นลงและวนลงสู่ส่วนล่างอีก อากาศจึงไหลเวียนสม่ำเสมออย่างนี้เรื่อยไป ทำให้อุณหภูมิภายในตู้เย็นคงที่
        ถ้านำช่องน้ำแข็งไว้ส่วนล่าง อากาศเย็นก็จะอยู่ส่วนล่าง ทำให้ไม่มีการไหลเวียนของอากาศ ผลจากความแตกต่างของอุณหภูมิในตู้เย็นจะทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างช่องน้ำแข็งไว้ส่วนบนของตู้เย็น

6. น้ำนมช่วยให้นอนหลับได้ ?
        ถ้าหากคุณนอนไม่หลับ มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้ดื่มนมอุ่นๆ สักแก้วก่อนนอน จะช่วยให้นอนหลับได้ดี ส่วนสาเหตุที่นมอุ่นๆ ทำให้เราง่วงนอนก็เพราะในน้ำนมมีกรดอะมิโน ที่ชื่อ แอล-ทริปโทฟาน (L-tryptophan) ร่างกายจะสร้าง ซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารเคมีที่สำคัญในสมองจากแอล-ทริปโทฟานนี้ สมองจะหลั่ง ซีโรโทนินออกมาควบคุมให้ง่วงนอน ระบบเหล่านี้ควบคุมด้วยระบบประสาทส่วนกลาง ส่วนที่ถัดจากระบบ ประสาทส่วนกลางลงมาเป็นส่วนที่ควบคุมให้ตื่นเป็นปกติ การที่นอนไม่หลับนั้นเนื่องจากสมองส่วนที่หลั่ง ซีโรโทนินถูกทำลายเสื่อมสภาพไป อุณหภูมิสูงเล็กน้อยของน้ำนม จะทำให้ประสิทธิภาพของการสร้าง ซีโรโทนินดีขึ้น...ถ้าคืนนี้นอนไม่หลับอย่าลืมหานมอุ่นๆ มาดื่มสักแก้วนะค่ะ....

5. ทำไมท้องฟ้าเป็นสีฟ้า ?
        แท้ที่จริงแล้วท้องฟ้าไม่มีสี แสงสีฟ้าที่มองเห็นเกิดจากสีฟ้าที่มีอยู่ในแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฎ ให้เราเห็นเป็นสีรุ้งนั่นเอง เมื่อแสงอาทิตย์ฉายผ่านฝุ่นผงและอนุภาคเล็กๆ ที่มีอยู่ในบรรยากาศ แสงจะถูกอนุภาค เล็กๆ เหล่านี้กระเจิงออกไป แสงสีฟ้าซึ่งเป็นแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงสีเหลืองและสีแดง จะกระเจิงออก ไปได้มากกว่าจึงทำให้มองเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้า

4. เคล็ดลับการทายอายุปลา ?
        เราสามารถบอกอายุปลาได้ง่ายๆ โดยมีเคล็ดลับดังนี้ ปลานั้นมีเกล็ดปกคลุมภายนอกลำตัวเหมือนกระเบื้อง มุงหลังคา เกล็ดเหล่านี้วางเกยและเรียงซ้อนกันเป็นแนวตลอดลำตัว เกล็ดปลานี้จะเจริญตามฤดู คือ รอยบน เกล็ดปลาจะแสดงถึงระยะเวลาที่ปลาเจริญช้าและเร็วสลับกันตามสภาพแวดล้อมและอาหารในน้ำ การเปลี่ยนแปลง ของสภาพแวดล้อมแบบนี้เองทำให้เกิดลวดลายบนเกล็ดปลาตามระยะปีของอายุปลา เราจึงสามารถกะอายุของ ปลาได้โดยใช้แว่นขยายส่องดูและนับวงของลวดลายบนเกล็ด แต่อย่าลองใช้วิธีแบบนี้กับปลาเงิน ปลาทองที่บ้าน เด็ดขาด เพราะปลาเป็นๆ จะมีสารชนิดหนึ่งห่อหุ้มเกล็ดปลา ถ้าสารนี้หลุดออกมาโดยใช้มือจับอย่างไม่ถูกวิธี ปลาจะตายทันที

3. แสงสว่างในหิ่งห้อย ?
        คุณเคยสงสัยไหมว่าหิ่งห้อยตัวเล็กๆ นั้นเปล่งแสงออกมาได้อย่างไร แสงจากตัวหิ่งห้อยมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับแสงธรรมดา คือ สามารถวัดได้ หักเหและสะท้อนได้ แต่ไม่มีความร้อนเกิดขึ้น เราเรียกแสงแบบนี้ว่า แสงนวล (Luminescence) แสงในตัวหิ่งห้อยเกิดจากสาร ลูซิเฟอริน (Luciferin) ซึ่งทำปฎิกิริยารวมกับออกซิเจนให้แสงสว่างออกมา แต่ปฎิกิริยานี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีสาร ลูซิเฟอริน ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฎิกิริยา แสงสว่างที่เกิดจากหิ่งห้อยนั้นมีน้อยมาก คือ ประมาณ 1/1,000 ของแสงจากเทียนไขเท่านั้นเอง

2. มนุษย์...พูดได้อย่างไร ?
        คนสามารถออกเสียงได้เพราะมีเอ็นในลำคอที่ทำให้เกิดเสียงอยู่ 2 เส้น เรียกว่า "สายเสียง" เอ็นดังกล่าวอยู่ระหว่างทางเข้าออกของลมหายใจ เมื่อต้องการออกเสียง เอ็นทั้ง 2 จะตึงและเคลื่อนที่ชิดเข้าหากันเพื่อบังคับให้อากาศผ่านช่องระหว่างเอ็น เมื่ออากาศเคลื่อนที่ผ่านช่องจึงทำให้เกิดเสียง หากช่องนี้เล็กมากเสียงจะแหลมมาก ดังนั้นการดัดเสียงแหลม ทุ้ม คือ บังคับเอ็นทั้ง 2 ให้ตึงชิดหรือห่างมากน้อยนั่นเอง
       เสียงเปลี่ยนเป็นคำพูดได้โดยอาศัยลิ้น การวางตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของลิ้น ทำให้เกิดเสียงลักษณะต่างๆ กันลองออกเสียงสระหรือพยัญชนะดู แล้วสังเกตว่าลิ้นเคลื่อนที่ต่างกันหรือไม่ แต่มีพยัญชนะบางตัวที่เราสามารถทำเสียงได้โดยไม่ต้องใช้เอ็น เช่น ตัว และ เกิดจากการที่เราปล่อยอากาศออกจากปาก โดยใช้ส่วนประกอบของปากเข้าช่วยเท่านั้น ส่วนคำพูด คือ การนำเสียงต่างๆ มารวมเป็นคำๆ ตามใจชอบ แต่ต้องเป็นสื่อให้คนอื่นเข้าใจความหมายได้

1. เทฟลอน คืออะไร ?
        ปัจจุบัน คุณแม่บ้านสามารถหุงข้าวโดยไม่ติดก้นหม้อ ทอดไข่โดยไม่ติดกะทะ ทำให้สะดวกต่อการทำความสะอาด เพราะภาชนะเหล่านี้ได้รับการเคลือบด้วย เทฟลอน  โมเลกุลของเทฟลอนใหญ่โตมากประกอบไปด้วยโมเลกุลเล็กๆ ของเตตราฟลูออโรเอทิลีนหลายหมื่นตัวมาเรียงเป็นลูกโซ ่โมเลกุลเล็กๆ นี้ประกอบไปด้วย ธาตุคาร์บอน 2 อะตอม กับ ฟลูออรีน 4 อะตอม การที่เทฟลอนมีคุณสมบัติทำให้อาหารไม่ติดกะทะได้ เพราะธรรมชาติของฟลูออลีนจะยึดเกาะกับอะตอมของคาร์บอนแน่นมาก แล้วยังผลักสารอื่นๆ ออกไปให้ห่าง ส่วนอะตอมของคาร์บอนก็จะเกาะกันเองจนไม่สามารถที่จะไปรวมกับอะตอมของสารอื่นๆ ได้อีกแล้ว
        เทฟลอนสามารถทนอุณหภูมิได้สูงถึง 326 องศาเซลเซียส การนำเทฟลอนมาใช้ประโยชน์ในการเคลือบภาชนะหุงต้ม ต้องดัดแปลงคุณสมบัติของโมเลกุลให้มีปลายเหนียวเพียงด้านเดียวเพื่อให้ยึดติดกับโมเลกุลของวัสดุต่างๆ ที่มันเคลือบอยู่ ส่วนอีกด้านหนึ่งก็จะลื่น น้ำและน้ำมันไม่สามารถเกาะติดได้ จึงใช้เทฟลอนเคลือบเสื้อผ้าและภาชนะต่างๆ และยังทดลองใช้แทนน้ำแข็งในลานสเกตน้ำแข็งอีกด้วย

TOP

หน้าหลัก >> ห้อง อ.สมพร >> Download MFW-P1 >> Thesis >> ติดต่อ webmaster