... ย้อนเวลาไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โปรแกรม Microfeap ถือกำเนิดมาจากผลงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทแผนกวิศวกรรมโครงสร้าง สถาบัน AIT 2 ท่าน คือ คุณศรัณย์ อุดมฤกษ์ชัย และผมเอง (สมพร) ในช่วงปี 2526-27 ซึ่งเป็นปลายยุคของเครื่อง Apple-II (เครื่องคอมฯ ครับ.. ไม่ใช่ผลไม้) โดยมี ศ.ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย (ตำแหน่ง ร.ศ. ในขณะนั้น) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เราได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้ไมโครฯ ที่มีหน่วยความจำน้อย (Apple-II 48-64 KB) มาวิเคราะห์โครงสร้างด้วยวิธี Finite Element จึงได้เขียน Microfeap ขึ้นด้วยภาษา AppleSoft Basic เพื่อเป็นเครื่องมือทดสอบ (Micro มาจาก Microcomputer, FEAP มาจาก Finite Element Analysis Program) พร้อมทั้งเขียน Library ให้โปรแกรมสามารถวิเคราะห์โครงสร้างได้หลายประเภททั้ง 2 และ 3 มิติ เช่น Truss, Beam, Frame, Grid, Plane Stress/Plane Strain, Plate, Membrane และ Shell เป็นต้น ซึ่งคล้ายๆ โปรแกรม Staad หรือ SAP ที่ขายกันตอนนี้ ผลการศึกษาเป็นที่น่าพอใจถึงแม้จะมีข้อจำกัดบ้างเรื่อง memory น้อยและ speed ช้า แต่แนวโน้มเทคโนโลยีคอมฯ จะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น เมื่อเรียนจบผมเผอิญมีโอกาสได้ทำงานต่อที่แผนกฯ (เป็นช่วงที่ อ. วรศักดิ์ไดัรับเชิญไปสอนที่ ม. โตเกียว 1 ปี) จึงใช้เวลาว่างปรับปรุงโปรแกรมและเพิ่มกราฟฟิกแสดงรูปทรงโครงสร้างเข้าไป จากนั้นได้เริ่มนำออกเผยแพร่ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งช่วงแรกพบว่าวิศวกรไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นกับการใช้คอมฯ และวิธีการของ Finite เครื่องคอมฯ ก็มีราคาสูง ส่วนโปรแกรมมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็นเพราะรวมโครงสร้างหลายประเภทไว้ในระบบเดียวกัน ทำให้ยุ่งยากต่อการเรียนรู้ใช้งานของผู้ไม่มีประสบการณ์
ต่อมาในปี 2528 เข้ายุคของเครื่อง IBM-PC โปรแกรมถูกปรับปรุงให้ใช้งานได้บน PC-Dos (256 KB) และเรียกชื่อว่า Microfeap-II โดยแยกออกเป็นโมดูลย่อยอิสระ 6 โมดูลตามการใช้งาน ได้แก่
โมดูล P1 : Plane Truss/Frame/Wall
โมดูล P2 : Plane Grid/Plate
โมดูล P3 : Plane Stress/Plane Strain
โมดูล P4 : Space Truss/Space Frame
โมดูล P5 : โครงสร้าง Membrane 3 มิติ
โมดูล P6 : โครงสร้าง Shell 3 มิติ
โปรแกรมถูกออกแบบให้ใช้งานง่ายขึ้น มีขีดความสามารถสูงไม่แพ้โปรแกรมจากต่างประเทศ มีการอบรมให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่องและเป็นกันเอง ราคาโปรแกรมถูกสุดๆ (แอบ copy กันเป็นส่วนใหญ่) มีการส่งขายเมืองนอก (ส่วนใหญ่ย่านเอเชีย) ในราคาชุดละ 200 เหรียญ ซึ่งได้นำเงินตราและชื่อเสียงมาสู่สถาบันมากพอควรในขณะนั้น และมีการจัดตั้ง "ชมรม Micro-Ace" ที่แผนกโครงสร้างฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้และโปรแกรมด้านวิศวกรรมโยธา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ACECOMS) ด้วยจุดเด่นเหล่านี้โปรแกรมจึงได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็วในหมู่วิศวกรไทยและต่างชาติตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมา
ในปี 2530 โปรแกรมได้รับรางวัลวิจัยดีเด่นด้านสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ และเป็นโปรแกรมที่มีบทบาทสำคัญในการช่วย " จุดประกายเริ่มต้น " ให้แก่วงการวิศวกรบ้านเราได้เห็นความสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในงานวิศวกรรมโยธาเพื่อยกระดับคุณภาพของงานในการแข่งขันกับต่างชาติ โปรแกรม (โมดูล P1, P2) ได้รับการปรับปรุงเรื่อยมาและใช้เป็นโปรแกรมหลักในการจัดอบรมควบคู่กับโปรแกรม XETABS ของ AIT ที่ใช้วิเคราะห์อาคารแบบ 3 มิติ โดยในช่วง 10 ปี มีวิศวกรเข้ารับการอบรมกว่าพันราย
ในปี 2538 ผมได้ลาออกจากสถาบัน AIT ตั้งใจจะไปสอนหนังสือในระดับล่างและบังเอิญได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์ประจำที่ ม. เทคโนโลยีมหานคร ซึ่งเพิ่งเปิดสาขาวิศวกรรมโยธา ผมสอนวิชา การประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในงานวิศวกรรมโครงสร้าง ให้แก่ น.ศ. ป.ตรีและโท ในช่วงนั้นระบบ Windows ได้เข้ามีบทบาทแทนที่ Dos อย่างรวดเร็ว มีผู้ใช้และนักศึกษาถามถึงการพัฒนาบนระบบ Windows เพราะอยากใช้โปรแกรมที่ทันยุคทันสมัย แต่ผมเองมีภารกิจงานสอนและกิจกรรมทางสังคมหลายอย่างที่รับผิดชอบจึงไม่สามารถหาเวลาอย่างต่อเนื่องมารื้อระบบและเขียนใหม่ ขณะเดียวกันก็เห็นว่าเวอร์ชั่น Dos ยังคงใช้งานได้ ข่าวสารความเคลื่อนไหวของโปรแกรมสู่ภายนอกจึงค่อยๆ จางลง ชีวิตอาจารย์ในมหาลัยฯ เอกชนเข้มข้นจริงๆ ครับ ได้สัมผัสทั้งบวกและลบ ตลอด 5 ปีที่สอน ผมมีความรู้สึกผูกพันธ์กับนักศึกษามากกว่าองค์กร พวกเค้าน่าเห็นใจ ต้องดิ้นรนและตื่นตัวตลอดเพื่อช่วงชิงสถานการณ์และทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด หากอาจารย์และสถาบันไม่ช่วยกันอบรมกล่อมเกลาอย่างจริงจังก็ยากต่อการคาดเดาคุณภาพและจิตสำนึกของบัณฑิตในอนาคต
ในปี 2543 ผมได้ลาออกจากมหาลัยฯ และเลือกเว้นวรรคตัวเองจากสังคมธุรกิจทั้งปวง (ยกเว้นการไปเป็นอาจารย์พิเศษให้ ม. นเรศวร 1 วิชา) เพื่อหาเวลาอิสระกลับมาพัฒนาโปรแกรมอีกครั้ง แต่ความใหม่ของระบบ Windows บวกกับการร้างเวทีเขียนโปรแกรมไปนานเกือบ 8 ปี ก็สร้างความหนักใจให้ไม่น้อยเช่นกันเพราะเนื้อแท้ผม คือ วิศวกรโครงสร้างมิใช่วิศวกรคอมพิวเตอร์ แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำ ... วันที่ 7 ม.ค. 44 จึงเป็นวันเริ่มต้นนับหนึ่งของการเขียน Microfeap for Windows ในกระท่อมหลังน้อยแห่งนี้ และในที่สุดผลงาน โมดูล P1:Release 1.0 ก็ได้คลอดสู่สังคมในวันที่ 12 มี.ค. 45 ที่ผ่านมา รวมเวลาที่ใช้ปีเศษครับ
" ... ผมไม่อยากเห็น Microfeap ตายไปจากสังคม
เพราะเป็นโปรแกรมที่มีประโยชน์อย่างมากในด้านการศึกษาและสายงานวิชาชีพ
กว่าที่คนไทยเราจะคิดและสร้างผลงานสักชิ้นให้สังคมไทยและต่างชาติยอมรับ
มิใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะผลงานด้านซอฟท์แวร์ทางวิศวกรรม ... "
แล้วท่านละครับ... วันนี้คิดอย่างไร ?
( ... สมพร อรรถเศรณีวงศ์ ... 20 พ.ค. 2545) |