มุมวิศวกร
ตอนที่ 1
ข้อควรตระหนักในการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป
เขียน 23/4/45

ถึง เพื่อนวิศวกรผู้ใช้โปรแกรมและนิสิต-นักศึกษาวิศวฯ

        จากการที่เราได้นำโปรแกรมสำเร็จรูปมาใช้งานประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านการทำงานและการศึกษา เราจะเห็นว่าโปรแกรมสำเร็จรูปส่วนมากถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้งานเฉพาะทาง (Specific Purpose Program) อย่างเช่น โปรแกรม Microfeap for Windows (P1) ใช้วิเคราะห์โครงสร้าง 2 มิติ ประเภท Truss, Frame และ Wall เป็นต้น เสน่ห์ของโปรแกรมสำเร็จรูป คือ ออกแบบให้ใช้งานง่าย ทันสมัย ให้ผลรวดเร็ว ไม่กวนใจผู้ใช้จนเกินไป ฯลฯ ผมจึงอยากให้เพื่อนวิศวกรและผู้ที่อยู่ในวัยเรียนได้ตระหนักถึง "คุณและโทษ" ของมันก่อนจะใช้งาน เราควรแยกแยะการใช้งานให้ถูกประเภทและเหมาะสมกับสถานะของตนเอง เช่น ถ้าอยู่ในวัยเรียน เราควรเรียนรู้หลักการทางทฤษฎี ศึกษารูปแบบของปัญหา และวิธีการวิเคราะห์ ฝึกฝนทำโจทย์เล็กๆ ด้วยมือให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อเรียนรู้ขบวนการ จากนั้นอาจใช้โปรแกรมสำเร็จรูปมาช่วยตรวจสอบคำตอบภายหลัง มิใช่เริ่มต้นด้วยการเสาะหาเครื่องทุ่นแรง (โปรแกรมสำเร็จรูป) มาแก้ไขปัญหาโดยไร้ซึ่งหลักการทางทฤษฎี  ผมอยากให้ผู้ที่อยู่ในวัยเรียนมีความมุ่งมั่นที่จะเป็น "ผู้ผลิต" มากกว่าจะเป็น "ผู้ซื้อ" มาใช้งานครับ

        ส่วนเพื่อนวิศวกรผู้ใช้โปรแกรมในงานจริง  เราควรต้องตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของวิชาชีพวิศวกรรมโครงสร้าง ทุกวันนี้เราทำงานอยู่บน "ความเสี่ยง" หลายปัจจัย แต่นี่ก็คือเกียรติและความภูมิใจของเราชาววิศวกร เราต้องรับผิดชอบต่อความแข็งแรงปลอดภัยของโครงสร้างที่ออกแบบ ดังนั้น "การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปจึงมีทั้งคุณและโทษ" ข้อความเตือนสตินี้พวกเราคุ้นหู เพราะนอกจากเราจะต้องพิถีพิถันในการเลือกใช้โปรแกรมที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับงานแล้ว ตัวเราเองจะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับการจำลองโครงสร้าง (Structural Modeling) ด้วย   การ "เสี่ยง" ใช้โปรแกรมประยุกต์ในงานวิชาชีพโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจก่อให้เกิดความเสียหายตามมา เนื่องจากโปรแกรมทุกโปรแกรมจะมีข้อจำกัดในการใช้งาน ผลลัพธ์ที่ได้จากโปรแกรมจะไร้ซึ่งความหมายหากเราใช้ผิดทาง

         ดังนั้น ก่อนจะประยุกต์ใช้โปรแกรมโครงสร้างใดๆ ในงานจริง ในฐานะวิศวกรโครงสร้างเราควรตระหนักและถามตัวเองว่า เรามีความพร้อมกับ 3 เป็นแค่ไหน ?

        1) จำลองโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการใช้งาน เป็น
        2) ใช้โปรแกรมอย่างถูกวิธี เป็น
        3) นำผลลัพธ์ที่ได้ไปใช้ในงานออกแบบ เป็น

        การเตรียมตัวทำได้ไม่ยาก หากเรามีความมุ่งมั่นที่จะศึกษา เรียนรู้และฝึกฝนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความชำนาญที่ถูกต้องให้กับตนเอง เช่น ศึกษาเพิ่มเติมจากตำราวิชาการต่างๆ หรืออาจเรียนรู้จากปรมาจารย์ที่เชื่อถือโดยตรง การกำหนดโครงสร้างจำลองนั้นมีความสำคัญต่อโครงสร้างจริงอย่างมาก วิศวกรที่มีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ย่อมจะสามารถประยุกต์ใช้โปรแกรมได้ดีกว่าซึ่งจะส่งผลดีต่อโครงสร้างจริง โปรแกรมที่จะเลือกใช้ก็ต้องสอดคล้องกับโครงสร้างจำลองด้วย

ผมขอฝากไว้เป็นข้อคิดนะครับ...